info2567 04

 
การเริ่มต้นเลี้ยงปศุสัตว์​ เกษตรกรจำเป็นต้องศึกษาทั้งวิธีการเลี้ยงและการป้องกันโรคระบาดสัตว์ ในบทความนี้จึงขอนำเสนอหลักการจัดการฟาร์มเพื่อให้มีระบบป้องกันโรคและการจัดการที่ดี ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์​ พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรปรับปรุงระบบการเลี้ยงสัตว์ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
การจัดการฟาร์มให้มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) มีหลักการในภาพรวม ดังนี้
1. การดูแลสุขภาพสัตว์ ได้แก่ การถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ทดสอบโรค
2. มีการจดบันทึกข้อมูลการให้วัคซีน ประวัติการตรวจรักษา
3. มีการกักแยกโรคสัตว์ตัวใหม่ก่อนนำเข้าฝูงอย่างน้อย 2 สัปดาห์
4. แยกพื้นที่สำหรับที่พักอาศัยและโรงเรือนเลี้ยงสัตว์
5. โรงเรือนมีขนาดเหมาะสมกับจำนวนและขนาดสัตว์
6. มีรั้วป้องกันคนหรือยานพาหนะจากภายนอกเข้าสู่สถานที่เลี้ยง
7. มีอ่างน้ำยาหรืออุปกรณ์สำหรับฆ่าเชื้อโรคหรือรองเท้าเปลี่ยนก่อนเข้าโรงเรือน
8. ไม่เลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นภายในฟาร์ม
9. ตรวจตราและมีการป้องกันสัตว์พาหะนำโรค
10. มีซองบังคับสัตว์สำหรับตรวจรักษาหรือให้วัคซีน
11. มีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคภายในโรงเรือนตามความถี่ที่เหมาะสม
12. มีที่เก็บอาหารที่สะอาด แห้ง ไม่อับชืัน และป้องกันพาหะนำโรคได้
13. มีที่เก็บรักษาวัคซีนและยารักษาโรคอย่างเหมาะสม
ประโยชน์ของการจัดการฟาร์มให้มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) คือ การจัดการให้ฟาร์มมีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดสัตว์ และสามารถพัฒนายกระดับสู่มาตรฐาน​ที่สูงขึ้น นั่นคือ มาตรฐาน​การปฏิบัติ​ทางการเกษตร​ที่ดีด้านปศุสัตว์ (Good Agricultural Practice : GAP) ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางอาหารให้แก่ผู้บริโภค รวมทั้งผลผลิตที่ได้จากฟาร์ม GAP ยังเป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพด้วยการเลี้ยงปศุสัตว์​ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
**************
ภาพโดย สำนักงานปศุสัตว์อำเภอแกลง
เรียบเรียงข้อมูลโดย กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดระยอง
ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ตามแผนงานที่ 3 ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านปศุสัตว์แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ภายใต้แผนการปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายกรมปศุสัตว์ระดับพื้นที่จังหวัดระยอง (DLD-C Rayong) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567