info2567 04

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้มีสภาพอากาศที่แปรปรวน อาจทำให้โค/กระบือของเกษตรกรเกิดความเครียด มีระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และลักษณะภูมิอากาศดังกล่าว ยังมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแมลง โดยเฉพาะแมลงพาหะนำโรค ได้แก่ ยุง ริ้น แมลงวัน เหลือบ และเห็บ เป็นต้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิด "โรคลัมปีสกิน" ที่นำโรคโดยแมลงพาหะเพิ่มขึ้น
บทความนี้จึงจะมานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคลัมปีสกิน ว่าเกิดจากอะไร ติดต่อผ่านช่องทางไหน ตลอดจนวิธีการป้องกัน เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกร
📌🐮 โรคลัมปีสกิน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สำคัญในโคกระบือ แต่ไม่ใช่โรคที่ติดสู่คน เกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus
🦠🦟การติดต่อ ติดจากแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ ยุง แมลงวัน และติดผ่านทางสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก การกินน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน
😷🤒 อาการ สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มนูนแข็งขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอันฑะและหว่างขา ตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ดและเกิดเป็นเนื้อตาย จากนั้นก้อนเนื้อตายที่แห้งมีการลอกหลุดเกิดเป็นแผลหลุมตามมาอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ในพ่อพันธุ์อาจส่งผลให้เป็นหมันชั่วคราว สำหรับแม่พันธุ์อาจทำให้แท้งแล้วก็กลับสัดช้า อัตราการป่วยอยู่ที่ 5 – 45 % อัตราการตายน้อยกว่า 10% ผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผลผลิตที่ลดลง
🛡️วิธีการป้องกันโรค คือ กำจัดแมลงพาหะในพื้นที่ เช่น พ่นยาฆ่าแมลงบริเวณคอกในฟาร์ม ป้องกันสัตว์ไม่ให้ถูกแมลงพาหะกัด เช่น กางมุ้งป้องกันแมลง ใช้ยาไล่แมลงราดตัวสัตว์ และมีการทำความสะอาดคอก อุปกรณ์ในการเลี้ยงเป็นประจำ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ มีการกักสัตว์ใหม่ก่อนนำสัตว์เข้าฝูง และควรเสริมสร้างภูมิคุ้มคุ้มกันต่อโรคให้กับสัตว์ทุกตัวภายในฟาร์มโดยการฉีดวัคซีน
💉กรณีฉีดวัคซีนเชื้อเป็น ให้ฉีดวัคซีนในลูกสัตว์ได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือนขึ้นไป แล้วทำการฉีดกระตุ้นซ้ำทุกปี ทั้งนี้ กรณีลูกสัตว์ที่เกิดจากแม่ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนให้เริ่มทำการฉีดวัคซีนในลูกสัตว์ที่อายุ 3 เดือน
💊การรักษา โรคนี้ไม่มีการรักษาจำเพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการเพื่อลดความรุนแรงของโรค เช่น มีการให้ยาลดปวดลดอักเสบในสัตว์ที่มีไข้สูง การให้ยาปฎิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และการโรยยาผงโรยแผลป้องกันแมลงวันตอมวางไข่ที่แผล เป็นต้น
**************
ภาพและข้อมูลโดย สำนักงานปศุสัตว์อำเภอวังจันทร์
ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ตามแผนงานที่ 3 ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านปศุสัตว์แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ภายใต้แผนการปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายกรมปศุสัตว์ระดับพื้นที่จังหวัดระยอง (DLD-C Rayong) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567