info2567 04

 
🐂🐃🐑🐐 เลี้ยงสัตว์อย่างไรให้ห่างไกลโรคปากและเท้าเปื่อย
📌โรคปากและเท้าเปื่อย หรือ FMD (Foot and Mouth Disease) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ในสัตว์กีบคู่ เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และกวาง ไวรัสที่เป็นสาเหตุของ โรค มีอยู่หลายชนิดและหลายสายพันธุ์ ปัจจุบันมี 7 ชนิดคือ ชนิด A, O, C, SAT 1, SAT 2, SAT 3 และ Asia 1 สําหรับในประเทศไทยพบ 3 ชนิด คือ ชนิด A, O และ Asia
🤒🥵สัตว์จะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2- 8 วัน โดยสัตว์จะมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร เกิด เม็ดตุ่มใสที่เยื่อบุภายในช่องปาก ลิ้น หรือ เหงือก ไรกีบ ซอกกีบ หรือหัวนม หลังจากนั้นตุ่มใสจะแตก และเนื้อเยื่อจะลอกหลุด ทําให้สัตว์เจ็บปาก กินอาหารลําบากจนกระทั่งกินอาหารไม่ได้ รวมทั้งอาจทำให้เจ็บเท้า กีบหลุด หรือเดินไม่ได้เนื่องจากเจ็บบริเวณแผล หากเกิดในโคนมจะทำให้อัตราการให้นมลดลง และจะหยุดให้นมในที่สุด หากเกิดในโคเนื้อและสุกร จะทำให้สัตว์น้ำหนักลด มีผลให้เกษตรกร สูญเสียทั้งเงินและเวลา ในการเลี้ยง และหากเกิดในสัตว์ที่กําลังท้องอาจทำให้สัตว์เกิดการแท้ง และมีปัญหาการผสมไม่ติดได้
🚫🛡ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค คือ Biosecurity หรือระบบความปลอดภัยทางชีวภาพภายในฟาร์ม โดยระบบการกีดกันเชื้อที่ดีจะช่วยป้องกันไม่ให้มีเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มได้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคจากคน สัตว์ สิ่งของ หรือยานพาหนะ ตลอดจนการทำวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยอย่างสม่ำเสมอและครอบคลุมสัตว์ทุกตัวภายในฟาร์ม เพื่อให้สัตว์มีภูมิต้านทานต่อโรค โดยมีหลักการสำคัญในการป้องกันโรค 3 ข้อดังนี้
💉การฉีดวัคซีน สำหรับในโค/กระบือ/แพะ/แกะ จะฉีดวัคซีนเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ครั้งละ 2 มิลลิลิตร กรณีลูกสัตว์สามารถฉีดวัคซีนครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ 4 - 6 เดือน และฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 หลังเข็มแรก 2 – 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงฉีดเป็นประจำทุกๆ 4 - 6 เดือน สำหรับการเก็บรักษาวัคซีนต้องเก็บที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส และระหว่างนำไปฉีดวัคซีนควรอยู่ในอุณหภูมิดังกล่าวร่วมกับมีการป้องกันไม่ให้วัคซีนโดนแสงแดด เพื่อไม่ให้วัคซีนเสื่อมคุณภาพ
✅️การมีระบบป้องกันโรค โดยการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อป้องกันการนำพาเชื้อจากภายนอกเข้าสู่ฟาร์ม และมีการควบคุมยานพาหนะ บุคคล เข้า-ออกฟาร์ม มีการป้องกันสัตว์พาหะนำโรค และรักษาความสะอาดภายในฟาร์ม
⚠️การเฝ้าระวังโรค ควรมีการสังเกตความผิดปกติของสัตว์ที่เลี้ยง หากพบสัตว์แสดงอาการหรือต้องสงสัยป่วยด้วยโรคปากและเท้าเปื่อย ควรแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ อาทิ ปศุสัตว์อำเภอ สัตวบาล อาสาปศุสัตว์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดต่อไป
**************
ภาพและข้อมูลโดย สำนักงานปศุสัตว์อำเภอบ้านค่าย
ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ตามแผนงานที่ 3 ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านปศุสัตว์แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ภายใต้แผนการปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายกรมปศุสัตว์ระดับพื้นที่จังหวัดระยอง (DLD-C Rayong) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567