info2567 04      info2567 14

📌🐥🐦 โรคไข้หวัดนก
⚠️☠️ โรคไข้หวัดนก เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคติดต่อในสัตว์ปีกที่สามารถติดสู่คนและอาจทำให้คนเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ชนิดรุนแรง H5N1 ที่เคยระบาดในประเทศไทย
🐥🙎การติดต่อจากสัตว์ปีกสู่คน สามารถติดต่อผ่านทางการสัมผัสสัตว์ป่วย/ซากสัตว์ปีก โดยเชื้อพบมากในสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย และมูลสัตว์ เข้าสู่ร่างกายของคนผ่านทางเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือบาดแผล ดังนั้น กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสัมผัสคลุกคลีกับสัตว์ปีกควรสวมอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค รวมทั้งปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด
😪🤧อาการในสัตว์ปีกที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ อาการไอ จาม หายใจลำบาก มีไข้ ท้องเสีย หน้าบวม เหนียงมีสีคล้ำ รวมทั้งการป่วย/ตายแบบกะทันหัน กรณีพบสัตว์ปีกป่วยตายไม่ทราบเหตุ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทีนที
🧪🧤การเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกเพื่อส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการจะต้องสวมถุงมือยางอย่างน้อย 2 ชั้น สวมผ้าปิดปากและจมูก โดยเก็บตัวอย่างซากสัตว์ใส่ถุงพลาสติกอย่างน้อย 2 ชั้นปิดปากถุงให้แน่น และแช่ในถังน้ำแข็งส่งตรวจทันที
🧼🧹🔥การทำลายเชื้อโรค กรณีซากสัตว์ให้เผาทำลายหรือฝังลึกอย่างน้อย 50 เซนติเมตร พร้อมราดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ก้นหลุมและราดทับอีกครั้งบนซากสัตว์ ก่อนฝังกลบให้มิดชิด กรณีทำความสะอาดโรงเรือนใช้น้ำผสมผงซักฟอกขัดคราบไขมัน ฝุ่น และมูลสัตว์ออกก่อน ล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วพ่นด้วยน้ำยาเชื้อโรคทุกซอกมุมและบริเวณรอบโรงเรือน รวมทั้งกำจัดสัตว์พาหะภายในฟาร์มร่วมด้วย
✅️❗️การป้องกันโรคภายในฟาร์ม ให้ปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพภายในฟาร์มอย่างเคร่งครัด (Biosecurity) เช่น ห้ามยานพาหนะและบุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคก่อนเข้าออกฟาร์ม รวมทั้งมีอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับจุ่มรองเท้าก่อนเข้าโรงเรือน เป็นต้น
**************
ภาพโดย สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเขาชะเมา
เรียบเรียงข้อมูลโดย กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดระยอง
ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ตามแผนงานที่ 3 ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านปศุสัตว์แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ภายใต้แผนการปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายกรมปศุสัตว์ระดับพื้นที่จังหวัดระยอง (DLD-C Rayong) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567