สมุนไพรน้อยหน่ากับการป้องกันเห็บหมัดในโค-กระบือ
เห็บ ถือเป็นปรสิตสำคัญในการเลี้ยงโค-กระบือ นอกจากจะดูดกินเลือดสัตว์ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง กรณีมีเห็บในปริมาณมากแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคต่างๆ เช่น โรคลัมปีสกิน โรคพยาธิเม็ดเลือดหรือไข้เห็บหลายชนิด ซึ่งก่ออาการเจ็บป่วยและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การป้องกันเห็บจึงเป็นอีกหนึ่งในการจัดการฟาร์มที่สำคัญ เพื่อป้องกันโรคระบาดภายในฟาร์ม ลดโอกาสป่วย และลดโอกาสสูญเสียค่าใช้จ่ายไปกับการรักษาโรคให้แก่โคนั่นเอง
น้อยหน่า เป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์กำจัดเห็บและเกษตรกรสามารถเตรียมเองได้ง่ายๆ รวมทั้งมีราคาไม่แพง โดยเมล็ดน้อยหน่ามีสารออกฤทธิ์ Squamocin สามารถฆ่าเห็บตัวอ่อนได้ โดยมีอัตราการตายอยู่ที่ร้อยละ 90-100 ภายใน 24 ชม. และสามารถฆ่าเห็บตัวเมียแก่ที่มีไข่ โดยมีอัตราการตายอยู่ที่ร้อยละ 90-100 ภายใน 48 ชม. โดยมีขั้นตอนในการเตรียมสารสกัดเมล็ดน้อยหน่าเพื่อใช้ฉีดพ่นฆ่าเห็บบนตัวโคกระบือ ดังนี้
บดเมล็ดน้อยหน่าให้เป็นผง โดยผลน้อยหน่า 5 ลูก จะมีปริมาณเมล็ดประมาณ 200 กรัม
เตรียมสารละลายเอทิลแอลกอฮอล์เข้มข้น 10% เพื่อใช้สกัดสารจากเมล็ดน้อยหน่า โดยเตรียมจากเอทิลแอลกอฮอล์เข้มข้น 70% (แอลกอฮอล์เช็ดแผลทั่วไปที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน) จำนวน 1 ส่วน ผสมกับน้ำกลั่น จำนวน 6 ส่วน
นำผงเมล็ดน้อยหน่าที่บดแล้วจากข้อที่ 1 มาแช่ในสารละลายเอทิลแอลกอฮอล์เข้มข้น 10% ที่เตรียมในข้อที่ 2 โดยใช้ผงเมล็ดน้อยหน่า 1 ส่วน กับสารละลายเอทิลแอลกอฮอล์เข้มข้น 10% 2 ส่วน แช่ทิ้งไว้เป็นเวลา 1 คืน
จากนั้นกรองส่วนผสมในข้อ 3 และใช้เอทิลแอลกอฮอล์ในปริมาตรเท่ากับที่ใช้แช่เมล็ดน้อยหน่า ล้างผงเมล็ดน้อยหน่าอีก 2 รอบ
นำน้ำผงน้อยหน่าที่ได้ใช้ฉีดพ่นเห็บบนตัวโค-กระบือ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกัน 4-6 สัปดาห์ โดยสามารถเก็บสารละลายไว้ในตู้เย็นได้ ทั้งนี้ ประสิทธิภาพอาจลดลง
(ที่มา : ณรงค์ จึงสมานญาติและคณะ, 2551)
**************
ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ตามแผนงานที่ 3 ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านปศุสัตว์แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ภายใต้แผนการปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายกรมปศุสัตว์ระดับพื้นที่ จังหวัดระยอง (DLD-C Rayong) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และแผนปฏิบัติงานการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรจังหวัดระยอง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567