info2567 06      

จากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ปัจจุบันยังคงตรวจพบสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าในหลายพื้นที่ รวมทั้งในจังหวัดระยองเอง โดยโรคนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หาย มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต คนหรือสัตว์ที่แสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้าแล้วจะเสียชีวิตทุกราย ทางที่ดีที่สุดคือ การควบคุมและป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า ต้องระมัดระวังและมีการป้องกันตนเองอย่างสม่ำเสมอ
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อได้ในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ติดต่อได้จากการสัมผัสน้ำลายจากการถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน หรือถูกเลียบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก นอกจากนี้ การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถทำให้ติดโรคได้
อาการที่พบในสัตว์ มี 3 ระยะ ได้แก่
ระยะเริ่มแรก มีอาการประมาณ 2-3 วัน โดยสุนัขจะมีอุปนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สุนัขที่ชอบคลุกคลีกับเจ้าของก็จะปลีกตัวออกไปหลบซุกตัวเงียบๆ เป็นต้น เริ่มมีไข้เล็กน้อย ม่านตาขยายกว้างกว่าปกติ กินน้ำและอาหารลดลง
ระยะที่สอง เป็นระยะตื่นเต้น จะเริ่มมีอาการทางระบบประสาท สุนัขจะกระวนกระวาย ตื่นเต้น ไม่อยู่นิ่ง กัดแทะสิ่งของ สิ่งแปลกปลอม กัดทุกสิ่งไม่เลือก โดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด เสียงเห่าหอนเปลี่ยนไป ตัวแข็ง บางตัวล้มชัก
ระยะสุดท้าย เป็นระยะอัมพาต สุนัขจะมีคางห้อยตก ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกนอกปาก น้ำลายไหล และไม่สามารถใช้ลิ้นได้ สุนัขบางตัวอาจแสดงอาการขยอกหรือขย้อน คล้ายมีของติดลำคอ ทรงตัวไม่ได้ เริ่มเป็นอัมพาต โดยอาการอัมพาตจะเริ่มจากขาหลัง และตายในที่สุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่สัตว์จะตาย ภายใน 10 วันหลังแสดงอาการ
หนึ่งในวิธีการป้องกันโรคที่สำคัญคือ ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยง (สุนัขและแมว) ต้องพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มฉีดเข็มแรกที่อายุ 3 เดือนแล้วฉีดกระตุ้นอีกครั้งในช่วง 2 – 4 สัปดาห์หลังจากฉีดเข็มแรก บางกรณีโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงอาจพิจารณาฉีดกระตุ้นอีกครั้งตอนอายุครบ 1 ปี จากนั้นจึงฉีดกระตุ้นประจำปี ปีละ 1 ครั้ง
นอกจากนี้ยังมีหลัก “คาถา 5 ย.” เพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกกัดหรือข่วน จำได้ง่ายๆ ดังนี้
1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ
2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ ตกใจ
3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า
4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร
5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือ สัตว์ต่างๆนอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ
หากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยโรคพิษสุนัขบ้ากัด หรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆครั้ง ควรล้างให้ถึงก้นแผล แล้วทายาฆ่าเชื้อ หากเป็นไปได้ให้จับสัตว์สงสัยกักขังไว้ แล้วรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อทราบและเร่งดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่
เราทุกคนสามารถร่วมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคได้ หากพบสัตว์แสดงอาการสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอหรือปศุสัตว์จังหวัดได้ทุกพื้นที่
**************
ภาพและข้อมูลโดย สำนักงานปศุสัตว์อำเภอวังจันทร์
ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ตามแผนงานที่ 3 ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านปศุสัตว์แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ภายใต้แผนการปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายกรมปศุสัตว์ระดับพื้นที่จังหวัดระยอง (DLD-C Rayong) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567