โรคยอดฮิตในโค/กระบือที่ต้องเฝ้าระวังในฤดูฝน
ด้วยระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนแปลงฤดูกาลจากฤดูร้อนสู่ฤดูฝน ทำให้โค/กระบือที่ปรับสภาพร่างกายไม่ทัน ภูมิคุ้มกันไม่ดี หรือไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นตามวงรอบอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีปัจจัยโน้มนำต่างๆ เช่น ความชื้นในอากาศ การเพิ่มขึ้นของแมลงพาหะนำโรคในช่วงฤดูฝน เป็นต้น ทำให้สัตว์มีโอกาสป่วยได้ง่ายขึ้นกว่าปกติ
โรคที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในช่วงฤดูฝนนี้ ได้แก่ โรคปอดบวมจากการตากฝนและติดเชื้อแทรกซ้อนร่วมด้วย โรคท้องอืดจากการบริโภคหญ้าอ่อนมากเกินไป เนื่องจากในฤดูฝนหญ้าเจริญเติบโตได้ดีกว่าปกติ โรคปากและเท้าเปื่อย โรคคอบวมหรือเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย โรคลัมปีสกินและโรคพยาธิเม็ดเลือดที่มีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ เป็นต้น
สำหรับอาการป่วยทั่วไปที่เกษตรกรต้องสังเกตโค/กระบือของตนอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ อาการซึม เบื่ออาหาร จมูกเปียกแฉะหรือแห้งกว่าปกติ อาการระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก ยืดคอหายใจ มีน้ำมูก ไอ เป็นต้น อาการระบบทางเดินอาหาร เช่น ไม่เคี้ยวเอื้อง ช่องท้องด้านซ้ายนูนใหญ่กว่าปกติ ท้องเสีย เป็นต้น หากพบโค/กระบือแสดงอาการดังกล่าวหรือพบสัตว์ป่วย/ตายโดยไม่ทราบสาเหตุให้รีบประสานแจ้งอาสาปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในท้องที่ทันที
สำหรับการป้องกันโรค ฟาร์มควรจัดให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพภายในฟาร์ม เช่น มีอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับจุ่มรองเท้าก่อนเข้าโรงเรือน มีรองเท้าสำหรับเปลี่ยนใช้ภายในโรงเรือน มีการจัดเก็บมูลสัตว์อย่างถูกสุขลักษณะ มีการทำความสะอาดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีคอกกักแยกโรคสัตว์ป่วยและกักแยกโรคสัตว์ตัวใหม่ก่อนนำเข้าฝูงอย่างน้อย 14 วัน มีโปรแกรมการกำจัดสัตว์พาหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็บ เหลือบ และแมลงดูดเลือดอื่นๆ อีกทั้งสัตว์ทุกตัวภายในฟาร์มควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคอย่างสม่ำเสมอ สำหรับโคเนื้อและกระบือควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยทุก 6 เดือน (กรณีฉีดครั้งแรกในลูกสัตว์เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 4 เดือนพร้อมเข็มกระตุ้นในเดือนถัดไป) และวัคซีนป้องกันโรคคอบวมหรือเฮโมรายิกเซปทิซีเมียทุก 1 ปี (กรณีฉีดครั้งแรกในลูกสัตว์เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 4-6 เดือน) เพื่อให้สัตว์มีภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสป่วยรุนแรง หรือสามารถฟื้นตัวหลังป่วยได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
**************
ภาพโดย สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองระยอง
เรียบเรียงข้อมูลโดย กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดระยอง
ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ตามแผนงานที่ 3 ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านปศุสัตว์แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ภายใต้แผนการปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายกรมปศุสัตว์ระดับพื้นที่ จังหวัดระยอง (DLD-C Rayong) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567