161

วันที่ 19 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. นายพนธ์สมิทธิ์ กลางนภา ปศุสัตว์จังหวัดระยอง นายเสกสรร แสงศัพท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดระยอง และนายเฉลิมชัย ชัยพิเนตร ปศุสัตว์อำเภอแกลง ร่วมกับหน่วยงานบูรณาการของจังหวัดระยอง ได้แก่ นายธนโชค พงษ์ชวลิต เกษตรและสหกรณ์จังหวัดระยอง  นางสาวสุวีรยา ปั้นปาน พาณิชย์จังหวัดระยอง นายกุมพล ชวนชม ประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง และนายอธิพงษ์ ตันศิริ ปลัดอำเภอแกลง ได้ลงพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้อง กรณีที่เกษตรกรได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องปัญหาราคาจำหน่ายผลผลิตสุกรมีชีวิตต่ำกว่าราคาตลาดซึ่งมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ณ บรรทมฟาร์มหรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ปริญทิพย์ฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 33/3 หมู่ 5 ตำบลห้วยยาง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

ฟาร์มดังกล่าวเป็นฟาร์มมาตรฐาน GAP เลี้ยงสุกรขุนขนาด 1,500 ตัว ทำสัญญากับบริษัทผู้ประกอบการส่งเสริมการเลี้ยงสุกร คือ บริษัท ไทยฟู้ดส์ จำกัด โดยเงื่อนไขในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา รูปแบบย่อย ประกันราคา ทำสัญญาก่อนการเลี้ยงสุกรชุดนี้เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2564 และนำสุกรเข้าเลี้ยงในเดือนกันยายน 2564 โดยบริษัทมีหน้าที่รับผิดชอบส่งเสริมการเลี้ยง จัดหาปัจจัยการผลิต และสนับสนุนการจัดการฟาร์ม ไปจนถึงมีข้อตกลงรับซื้อสุกรมีชีวิตเมื่อครบกำหนดการเลี้ยง 150 วัน โดยตกลงราคาตามสัญญาที่กิโลกรัมละ 60 บาท ปัจจุบันเลี้ยงสุกรชุดดังกล่าวมาแล้ว 140 วัน ซึ่งยังไม่ครบกำหนดตามเงื่อนไขสัญญา ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีความกังวลใจ เนื่องจากใกล้ครบกำหนดจับขายแต่ยังไม่ได้รับการยืนยันวันที่จะจับจากทางบริษัท ทำให้เกรงว่าสุกรของตนจะถูกจับขายล่าช้าและก่อภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนไปด้วยอารมณ์และให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนโดยไม่ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่าตนเลี้ยงสุกรในรูปแบบประกันราคาและต้องขายให้กับบริษัทที่ทำสัญญาด้วยเท่านั้น ทำให้ข้อมูลเกิดความคลาดเคลื่อนตามข่าวที่ปรากฏออกไปและกราบขออภัยแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย

ต่อมาในเวลาประมาณ 11.30 น. นายพนธ์สมิทธิ์ กลางนภา ปศุสัตว์จังหวัดระยอง นายธนโชค พงษ์ชวลิต เกษตรและสหกรณ์จังหวัดระยอง นางสาวสุวีรยา ปั้นปาน พาณิชย์จังหวัดระยอง และนายเฉลิมชัย ชัยพิเนตร ปศุสัตว์อำเภอแกลง ได้ร่วมพูดคุยกับนายผดุงศักดิ์ สิทธิเวช ผู้จัดการสัตวบาลส่งเสริม เขตตะวันออก ในนามผู้แทนของ บริษัท ไทยฟู้ดส์ จำกัด ทางบริษัทฯได้กล่าวชี้แจงว่า ฟาร์มปริญทิพย์ เป็นฟาร์มแห่งเดียวในจังหวัดระยองที่เลี้ยงภายใต้เงื่อนไขประกันราคากับทางบริษัทฯ และเป็นฟาร์มที่มีประวัติการปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดี ได้รับผลตอบแทนที่สูง พร้อมชี้แจงเงื่อนไขสัญญาของทางบริษัทฯพอสังเขป ดังนี้ 

- บริษัทฯ จัดการปัจจัยการผลิตให้เกษตรกร ในราคาเป็นธรรมและถูกกว่าจัดหาเอง เช่น ราคาลูกสุกรพร้อมทำวัคซีน ตามประกาศจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทยประมาณตัวละ 2,800-2,900 บาท แต่บริษัทฯ จัดหาให้สมาชิกภายใต้เงื่อนไขประกันราคาในราคาตัวละ 1,290 บาท รวมถึงอาหาร ยา และเวชภัณฑ์ทางการเกษตรบริษัทเป็นผู้จัดหาให้และจะให้เครดิตกับเกษตรกรก่อน แล้วหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดคืนบริษัทในวันจับสุกรขาย

- มีเงินรางวัลเพิ่มให้เกษตรกรจากการมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดี (เงื่อนไขโครงการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564)  เช่น รางวัลเงินเพิ่มกรณีมีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียต่ำ เช่น กรณีมีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียในช่วง 0-4 % จะได้รับเงินเพิ่ม 25 บาทต่อตัว กรณีมีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียในช่วง 4.01- 4.5 % จะได้รับเงินเพิ่ม 20 บาทต่อตัว เป็นต้น กรณีมีใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม GAP จะได้รับเงินเพิ่ม 5 บาทต่อตัว กรณีได้รับการรับรองฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) จะได้รับเงินเพิ่ม 7.50 บาทต่อตัว และกรณีเลี้ยงได้ดี ไม่มีโรคต่าง ๆ รวมทั้ง ASF ระบาดรุนแรง จะได้รับเงินเพิ่ม 7.50 บาทต่อตัว

- สุกรที่เลี้ยงตามสัญญา ต้องขายให้ทางบริษัทตามราคาประกัน 60 บาทต่อกิโลกรัม และมีเงินเพิ่มกรณีการขนส่งจากฟาร์มไปถึงโรงฆ่าสัตว์เพื่อการบริโภคอัตราขึ้นกับระยะทาง

พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมพูดคุยกันในประเด็นที่ควรนำเสนอต่อผู้บริหารภาครัฐและบริษัทผู้ประกอบการฯ เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการช่วยเหลือหรือให้ความร่วมมือในการปรับลดกลไกการตลาด และค่าใช้จ่ายที่อาจเป็นสาเหตุให้ราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกรเพื่อบริโภคมีราคาสูงมากดังเช่นในปัจจุบัน เช่น ต้นทุนแฝงในฟาร์มที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่ดี เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อ ค่าใช้จ่ายจากการจ้างคนงานให้อยู่ประจำภายในฟาร์มตลอดระยะเวลาการเลี้ยง เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าฟาร์ม การจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาแพงขึ้น ราคาน้ำมันซึ่งส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรูปแบบการเลี้ยงอิสระหรือเกษตรกรรายย่อย การแก้ไขปัญหาพ่อค้าคนกลางตลาดสุกร และการป้องกันการกักตุนสินค้า เป็นต้น

ที่มาของข้อมูล :  สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดระยอง